วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561

บ้านนราศิลป์ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน

ประวัติ “บ้านนราศิลป์” แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน
บ้านนราศิลป์ ตั้งอยู่ในชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน(วัดแค นางเลิ้ง)บนถนนหลานหลวง ซึ่งเป็นถนนสายนาฎศิลป์แหล่งรวมศิลปะการแสดงโขน,ละครและนาฎศิลป์ไทยแขนงต่างๆที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของบรรดาศิลปินนักแสดง โขน,ลิเก,ละคร,นาฎศิลป์ฟ้อนรำ และครูดนตรีไทยมาอย่างยาวนานหลายยุคหลายสมัยเรื่อยมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นัยว่ายุคนั้นศิลปะการแสดงนาฎศิลป์ของไทยนั้นเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก จึงมีการเกณฑ์ศิลปินนักแสดงและครูดนตรีไทยในสมัยนั้นให้มาอยู่รวมกันเป็นหมวดหมู่ตั้งแต่เชิงสะพานวัดสระเกตุ(ถนนจักรพรรดิพงศ์)เรื่อยไปจนถึงเชิงสะพานขาว(ถนนหลานหลวง) คณะนาฎศิลป์จากหลายแหล่งของประเทศไทยที่มีเชื้อสายไทย,มอญ,ทวายและอื่นๆต่างมาตั้งรกรากเปิดคณะกันจนทั่วสองฝั่งฟากถนนรวมกันแล้วหลายสิบคณะ


 คณะนราศิลป์ ก่อตั้งคณะขึ้นมาครั้งแรกในราวต้นสมัยรัชกาลที่ 6 โดย..คุณแม่ละม่อม สุสังกรกาญจน์ สมัยนั้นรับงานแสดงโขนกลางแปลง โขนหน้าจอ,โขนชักรอก,ละครชาตรี,ละครพันทางและดนตรีไทย ตลอดจนเป็นบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในยุคแรกๆชื่อ..นราศิลป์ภาพยนตร์   ต่อมา..คุณแม่จินดา ปานสมุทร์  ได้รับช่วงสืบสานงานนาฎศิลป์จนพัฒนามากขึ้นมาเป็นลำดับตามกระแสความนิยมของคนไทยในยุคนั้น จนเป็นคณะนาฎศิลป์คณะใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยมาเกือบหนึ่งศตวรรษราว พ.ศ.2511 เป็นต้นมา คณะนราศิลป์ ได้มีส่วนร่วมในเบื้องหลังการแสดงโขนธรรมศาสตร์ ของอาจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ และยังได้เริ่มผลิตละครร้อง,ละครเวที ตลอดจนละครวิทยุขึ้นมาตามความนิยมของผู้คนใยยุคนั้นอีกด้วย

           ต่อมาการแสดงโขน,ละคร,และนาฎศิลป์ไทยได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากกระแสวัฒนธรรมการแสดงของตะวันตกเริ่มเข้ามาแทนที่ ตลอดจนมีสื่อความบันเทิงแขนงอื่นๆเริ่มเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย บ้านนราศิลป์ ก็ยังคงเป็นคณะนาฏศิลป์ไทยคณะหนึ่ง ที่ยืนหยัดรับใช้สังคมไทยมาได้อย่างเหนียวแน่นและยาวนานตลอดมา

        แม้ทุกวันนี้..การแสดงนาฎศิลป์ฟ้อนรำของไทยจะไม่ได้รับความนิยมและเฟื่องฟูเหมือนดังในอดีต แต่ทายาทรุ่นที่สาม นำโดย..อาจารย์ ภุมรี ปานสมุทร์ บุตรสาว และนายพินิจ  สุทธิเนตร ผู้เป็นหลานชาย นางสาวบุษบา  ทับผล  และนายปณต  ทองงาม  หลานบุญธรรม   ก็ยังคงดำเนินกิจการตามรอยบรรพบุรุษ เพื่ออนุรักษ์นาฏศิลป์แขนงนี้เอาไว้ให้คงอยู่เพื่อเป็นมรดกของชาติ และเพื่อให้ชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน(วัดแค นางเลิ้ง)ยังคงความเป็นตำนาน" ถนนสายนาฎศิลป์ แห่งแผ่นดินสยาม" สืบต่อไป..


          ปัจจุบันบ้านนราศิลป์  นอกจากจะรับงานนาฏศิลป์  และรับปักเครื่องโขน  เครื่องละครแล้ว  บ้านนราศิลป์ยังเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับประชาชน  นักเรียน  นิสิต  นักศึกษา ได้เข้าเยี่ยมชม  สาธิตการปักเครื่องโขน เครื่องละคร และให้ชมหัวโขน  ฝีมือครูชิต  แก้วดวงใหญ่ และผลิตภาพยนตร์ สารคดี  เพื่อพยายามทำทุกอย่างให้เหมือนอดีตที่ผ่านมา เพื่อให้ “บ้านนราศิลป์” เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งตรงกับภารกิจที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ โครงการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖1  “บ้านนราศิลป์” จึงได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแหล่งเรียนรู้ฯ ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ด้วยการดำเนินการจัดกิจกรรม การอบรมเชิงปฏิบัติการงานหัตถศิลป์ งานปักเครื่องโขน ละคร รุ่นที่ 1 เพื่อให้เด็ก เยาวชน นักเรียน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันสืบสาน รักษาและต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชน และร่วมกันขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมของชาติต่อไป





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น