บ้านศาลาดิน วิถีชุมชน คนมหาสวัสดิ์
บ้านศาลาดิน บ้านฉันชื่อ "ศาลาดิน" หลังจากใน พ.ศ. 2403 เมื่อมีการขุดคลองมหาสวัสดีเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงมีพระราชประสงค์ให้ทำการ
สร้างศาลา เพื่อสาธารณประโยชน์ริมคลองขุดมหาสวัสดิ์ทุกระยะ 4 กิโลเมตร เป็นจำนวนทั้งหมด 7 ศาลา สำหรับศาลาหลัง
สุดท้ายตั้งอยู่ในพื้นที่ของ หมู่ที่ 3 ตำบลมหาสวัสดิ์ เรียกกันว่า ศาลาดิน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ "ศาลาดิน" จนปัจจุบัน
แต่ดั้งเดิมชาวบ้านในชุมชนศาลาดิน มีอาชีพทำนาเพียงปีละครั้ง ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดความยากจน และต้องขายที่ทำกินของตน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ทำการพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้แก่เกษตรกร จำนวน 1,009 ไร่ โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแลและทำการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร แปลงละ 20 ไร่ และเริ่มเข้าทำกินได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 พร้อมกับได้พระราชทานแนวทางการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ส่งผลให้คนภายในชุมชน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ข้าวตัง การบูรณาการเพื่อการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของหลักเศรษฐกิจพอเพียง จนทำให้เกิดภูมิปัญญาไทยอันเลื่องชื่อ "ข้าวตัง" ที่ถูก
พัฒนาได้อย่างไม่หยุดยั้งเพื่อสร้างสรรค์อัตลักษณ์ที่แตกต่างอย่างยั่งยืนในยุคโลกาภิวัฒน์ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้กับจุดเรียนรู้ วิถีชุมชนที่จะทำให้คุณได้ย้อนไปในวันวานกับรูปแบบการดำเนินวิถีชีวิตริมคลองขุด ภายใต้การน้อมนำเอาแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้หล่อเลี้ยงชุมชนบนพื้นที่ทำกินพระราชทาน พร้อมชมการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
นาบัว พื้นที่ปลูกบัวสัตตบงกช สถานที่ที่ดอกบัวถูกเลือกเฟ้นและเก็บเกี่ยวในยามรุ่งสาง เพื่อความเป็นที่สุดในการบูชาพระตามความเชื่อของชาวพุทธ ท่ามกลางบรรยากาศศาลากลางน้ำบนนาบัว ที่มีฝูงปลาน้อยใหญ่กำลังแหวกว่าย ช่วยสร้างบรรยากาศอันร่มรื่นพร้อมลมพัดโชยเบาๆ ผสมผสานกับวิวทิวทัศน์ของดอกบัวสัตตบงกชสีชมพูงามเด่น ส่งกลิ่นไอความหอมเย็น ช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียด
บ้านฟักข้าว เยี่ยมชมสวนฟักข้าวอันร่มรื่นริมคลองมหาสวัสดิ์
และลองลิ้มชิมรสกับผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว อาทิ น้ำฟักข้าว คุกกี้ฟักข้าว หมี่กรอบฟักข้าว นอกจากนี้ในวันเสาร์-อาทิตย์ ยังจะได้ชิมก๋วยเตี๋ยวฟักข้าวสูตรพิเศษอีกด้วย
นากล้วยไม้ กล้วยไม้หลากสีสันภายในพื้นที่เพาะปลูกแบบธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิตกล้วยไม้ส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยในปัจจุบัน โดดเด่นสะดุดตาด้วยกล้วยไม้สีม่วงสด "พันธุ์ทัศนีย์" เอกลักษณ์อันล้ำค่าหนึ่งเดียวของชาวมหาสวัสดิ์
สวนผลไม้และนาข้าว เรียนรู้วิถีชีวิตแบบชาวไร่ผ่านการเยี่ยมชมและสูดอากาศบริสุทธิ์บนรถอีแต๋นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของชาวสวนไทย พร้อมชมวิวทุ่งนาแบบ 360 องศา ที่จะทำให้คุณได้สัมผัสถึงกลิ่นอายของทุ่งนาได้อย่างใกล้ชิดและยังได้ลิ้มรสผลไม้จากสวน ที่มีให้ทานอย่างหลากหลายตลอดทั้งปี
ตลาดน้ำบ้านศาลาดิน พื้นที่ค้าขายสินค้าจากเกษตรกรและสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดนครปฐม ให้คุณได้ฝากท้องไว้ เมื่อยามที่หิวได้
สบายๆ ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติริมคลองขุดมหาสวัสดิ์ พร้อมกลิ่นไอของวิถีชีวิตชุมชน ทุกวันเสาร์-อาทิตย์
คลองขุดแห่งศรัทธากับศาสตร์พระราชาเพื่อความยั่งยืน
คลองมหาสวัสดี หรือ คลองมหาสวัสดิ์ เป็นคลองขุดที่เริ่มจากคลองบางกอกน้อยไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กับพื้นที่เขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ผ่านมายังอำเภอพุทธมณฑลไหลออกสู่แม่น้ำท่าจีน
คลองมหาสวัสดิ์ เริ่มขุดขึ้นในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2402 โดยเกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 รวมความยาวของคลองทั้งสิ้น 28 กิโลเมตร โดยพระองค์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี และภาษีสมบัติบริบูรณ์ เป็นแม่กองการจ้างแรงงาน
ชาวจีน เพื่อขุดคลองสำหรับใช้เป็นเส้นทางหลักในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระปฐมเจดีย์และเป็นคลองเปิดพื้นที่ให้เป็นนา สำหรับแจกพระเจ้าลูกยาเธอ ในส่วนของแรงงานที่มาขุดส่วนใหญ่ที่เป็นคนจีนนั้นได้มีการอพยพมาจากประเทศจีน ซึ่งในขณะนั้นประเทศจีนถูกปกครองโดยราชวงศ์แมนจู คนจีนจึงถูกกดดันต้องเดินทางออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้คนจีนเข้าประเทศไทยได้โดยเก็บภาษีคนต่างด้าว ผู้ที่เสียภาษีแล้วจะมีการ "ผูกบี้" ไว้ที่มือ จากนั้นก็สามารถเดินทางไปรับจ้างงานได้ทั่วราชอาณาจักรและกลายเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศในระยะนั้น
ครั้นขุดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2403 ถือเป็นคลองขุดที่มีความกว้างที่สุดในสมัยนั้น คือกว้าง 14 เมตร ใช้เงินในการขุดคลองจำนวนทั้งสิ้น 1,101 ชั่ง 10 ตำลึง นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงพระราชทานนามให้กับคลองสายนี้ว่า "มหาสวัสดี" โดยเชื่อกันว่าความสวัสดีอันเป็นที่มาของคลองแห่งนี้ น่าจะมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสยามประเทศในยุคสมัยนั้น รวมถึงความสุขสวัสดี อันเกิดจากการที่ประชาชนได้ใช้คลองแห่งนี้เป็นเส้นทางลัด ไปสู่การนมัสการพระปฐมเจดีย์ได้
เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จนั้น รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาทิพากรวงศ์ สร้างศาลาสำหรับประชาชนพักเป็นระยะไปริม
คลองทุก 100 เส้น รวมทั้งหมด 7 ศาลา ปัจจุบันคลองขุดสายนี้ยังคงเป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้านและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
อัตราค่าบริการล่องเรือชมสวน
เปิดบริการเวลา 08.00-17.00 น. , ค่าเรือ 350 บาท/1 ลำ , ค่าหัว 100 บาท/คน , เรือ 1 ลำนั่งได้ 6 คน , ค่าบริการเพิ่มเติมในกรณีนั่งรถอีแต๋นเที่ยวละ 100 บาท นั่งได้ 10 คน
สามารถลงเรือชมสวนได้ที่จุดบริการนักท่องเที่ยว ณ วัดสุวรรณาราม และตลาดน้ำบ้านศาลาดิน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวันชัย สวัสดิ์แดง โทร.081- 4986340, และคุณวันเพ็ญ นรารอด โทร. 083-0004371
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น